หลายคนมักรู้สึกว่าโรคมะเร็งก็เหมือนกับเกมวัดดวง (ซวย) ที่จะเกิดขึ้นกับเราตอนไหนก็ได้ จากอดีตที่เคยรับรู้กันว่ามะเร็งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเราอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง
แต่ปัจจุบันพบว่าแม้ครอบครัวจะไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเลยเราก็อาจจะป่วยเป็นมะเร็งได้ เพราะว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีมากมายทั้งเรื่องพันธุกรรมในครอบครัว ไลฟ์สไตล์สุ่มเสี่ยง หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
แม้มะเร็งจะเป็นโรคที่ระบุสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมหรือปัจจัยอะไรบ้างที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง แล้วปรับเปลี่ยนนิสัยหรือเข้าไปตรวจคัดกรองมะเร็งได้ทันท่วงที เราก็จะสามารถป้องกันตัวไม่ให้เจอแจ็กพอตเป็นมะเร็งในอนาคตได้
เนื่องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้เป็นวันมะเร็งโลก ที่องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ตระหนักถึงความอันตรายของโรคมะเร็ง เราจึงอยากชวนทุกคนมีสังเกตตัวเองว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งอะไร แล้วรีบมองหาวิธีป้องกันแก้ไขเพื่อให้ทุกคนห่างไกลจากมะเร็งตัวร้ายได้แบบไม่ต้องโทษดวง
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่ชายไทยเป็นมากที่สุดและยังเป็นโรคไม่ติดต่อที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากที่สุดโรคหนึ่งด้วย เพราะโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการ ผู้ป่วยกว่าจะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกก็มักจะอยู่ในระยะท้ายของโรค ทำให้ไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็นมะเร็งตับเยอะเพราะโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายสุดๆ เริ่มตั้งแต่ปัจจัยที่เลี่ยงได้ยากอย่างกรรมพันธุ์ ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับหรือป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีที่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากติดต่อจากแม่มาสู่ลูกก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือมีไลฟ์สไตล์เสี่ยงๆ ไม่ว่าจะเป็นเคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่เป็นประจำ คนที่การกินอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันสูงจนมีน้ำหนักเกิน ที่อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไปด้วยเช่นกัน
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่ามะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นกันเยอะ ซึ่งสาเหตุสำคัญของมะเร็งปอดก็หนีไม่พ้นการสูบบุหรี่ จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่า 85% เกิดจากการสูบบุหรี่ และอีก 30% มาจากการใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่หรือควันบุหรี่มือสองที่พวกเขาไม่ได้เลือกเอง
แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรมพันธุ์ การได้รับสารพิษ เช่น ก๊าซเรดอนซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่พบได้ทั่วไปในอากาศ หรือสารหนูและถ่านหินที่มักจะเกิดกัยคนที่ทำอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการได้รับฝุ่นและควันจากท่อไอเสียของยานพาหนะก็อาจจะสะสมจนกลายเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งปอดได้
นอกจากนี้ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่คนอายุน้อยกว่า 40 ปีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดนะ
มะเร็งลำไส้ที่ถือเป็นหนึ่งในสามมะเร็งสุดฮิตของคนไทยที่มักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในเด็กโตและวัยรุ่นได้ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิงมากพอๆ กัน
มะเร็งลำไส้นั้นเป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากนิสัยการกินของเราโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารไขมันสูง สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงการไม่กินผักผลไม้หรืออาหารที่มีกากใย ถึงจะส่งผลให้ท้องผูก มีสารก่อมะเร็งตกค้างในลำไส้และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมีประวัติเนื้องอกที่ผนังลำไส้ใหญ่ซึ่งปกติจะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่หากเวลาผ่านไปเนื้องอกบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้หากคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่ ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นด้วย
อีกหนึ่งโรคร้ายที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงหลายๆ คน เพราะมะเร็งปากมดลุกนั้นค่อนข้างขึ้นชื่อว่าเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ง่ายเป็นอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย โดยมักพบผู้ป่วยมากในช่วง 50 ปีขึ้นไป แต่คนที่อายุก็ยังน้อยก็มีโอกาสเป็นได้นะ
โรคมะเร็งปากมดลูกเกือบ 70% เกิดจากติดเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นเชื้อไวรัสติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งคนที่เสี่ยงติดไวรัสนี้มีทั้งเกิดจากการฉีกขาดของช่องคลอดในกรณีของผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ รองลงมาคือการสูบบุหรี่ รับควันบุหรี่มือสอง และภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง นอกจากนี้ใครที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มีประวัติคนครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือกินยาคุมติดต่อกัน ก็ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนอื่นๆ ได้ด้วย
หากรู้ตัวว่าเสี่ยง สิ่งแรกที่ทุกคนควรทำคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงไปการตรวจคัดกรอง (Screening for cancer) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งที่รุนแรง เพราะในระยะที่มะเร็งเริ่มก่อตัวเรามักจะมองไม่เห็นความปกติด้วยตาเปล่า ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองมีประสิทธิผลสูงทั้งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงหรือยังเสี่ยงน้อยก็ควรจะป้องกันโรคมะเร็งไว้ก่อนด้วยการตรวจร่างกายเป็นประจำ ออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง