Skip to content

โอ๊ย..ปวดหัว! 

ถึงอาการปวดหัวจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย แค่หยิบพาราฯ มากินก็ระงับอาการปวดได้ แต่นั่นก็อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะบางคนอาจรู้สึกปวดหัวนานขึ้นและถี่ขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นได้อย่างไม่คาดคิด

วันนี้มาสำรวจตัวเองกันหน่อยว่า อาการปวดหัวที่เป็นบ่อยๆ นั้น เรียกว่าเป็นอาการปวดหัวประเภทไหน จะได้หาหนทางป้องกันและรักษาอาการปวดได้อย่างถูกวิธี

โอ๊ย..ปวดตุบๆ
ปวดหัวแบบไมเกรน (Migraine)

หากมีอาการปวดแบบตุบๆ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มองเห็นแสงพร่าๆ วูบวาบ หรือบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย นี่คืออาการชี้ชัดว่าคุณเป็นไมเกรนเข้าแล้วล่ะ 

ไมเกรนเป็นอาการปวดที่เกิดได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น อากาศร้อน กลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือแสงจ้า รวมทั้งสิ่งกระตุ้นจากภายใน หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตสุดฮาร์ดคอร์ของเราเอง เช่น ความเครียดจากการทำงาน การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือการอดนอน

บางคนบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยการใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับกลุ่มยาต้านไมเกรน แต่การใช้ยาแก้ปวดมากๆ หรือใช้บ่อยครั้งเกินไป อาจจะยิ่งส่งเสริมให้เราปวดหัวแบบเรื้อรังมากขึ้น วิธีแก้ไมเกรนที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆ และการจ้องแดดจัดๆ ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดีขึ้น

โอ๊ย..ปวดรุนแรงที่ขมับ
ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster)

อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์มักจะแสดงอาการเป็นชุดๆ ครั้งหนึ่งอาจกินเวลา 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง บางคนเป็นติดต่อกันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการปวดที่เบ้าตาหรือขมับข้างเดียว น้ำตาไหล หูอื้อ และน้ำมูกไหลร่วมด้วย

ต้นสายปลายเหตุของอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์มักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท หลอดเลือด และการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การสูดดมกลิ่นที่รุนแรง หรือการอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณก๊าซออกซิเจนต่ำ

การรักษาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยมีทั้งการให้ยาแก้ปวด การให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ทางจมูก จนไปถึงการผ่าตัด ส่วนการเซฟตัวเองจากการปวดแบบคลัสเตอร์นั้นคล้ายกับปวดไมเกรน นั่นคือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

โอ๊ย..ปวดแบบบีบรัด
ปวดหัวเทนชั่น (Tension)

โดยทั่วไปอาการปวดหัวเทนชั่นหรือปวดแบบกล้ามเนื้อตึงตัว จะรู้สึกปวดเหมือนถูกบีบ กด หรือรัดทั้งหัว อาการมักเริ่มที่ท้ายทอย ร้าวไปขมับทั้งสองข้าง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด เมื่อระบบประสาททำงานหนักมากเกินไป ภาวะที่ไม่สมดุลที่ว่าจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงตัว

หากอาการปวดไม่รุนแรง แนะนำให้นอนพักทันทีเพื่อให้ระบบประสาทของร่างกายได้พักและผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ถ้าใครไม่สะดวกนอนพัก สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาเบื้องต้นได้ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาปลายเหตุเท่านั้น หากปวดยาวนานเกิน 30 นาที หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าไม่อยากปวดหัวเทนชั่น เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ยืดหยุ่นอยู่เสมอ 

โอ๊ย..ปวดหน่วงๆ แถวหน้าผาก
ปวดหัวไซนัส (Sinus)

ปวดหัวไซนัส เป็นอาการที่เกิดจากโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ จะรู้สึกปวดแบบหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม และขมับ รู้สึกร้อนแปล๊บๆ รอบกระบอกตา มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล บางรายมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นกับคนที่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้ว รวมทั้งคนที่เป็นไข้หวัด หรือเพิ่งหายจากไข้หวัด ซึ่งกรณีหลังมักจะเกิดขึ้นกับรายที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

ไซนัสอักเสบเป็นภาวะติดเชื้อรูปแบบหนึ่ง วิธีเยียวยาที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจนกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาก็จะยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ซึ่งการรักษาให้หายขาดจริงๆ อาจกินเวลามากถึง 3 เดือน แม้อาการจะดีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์หลังจากรับยาก็ไม่ควรชะล่าใจ อย่าลืมไปตามนัดคุณหมออย่างสม่ำเสมอนะ

หากมีอาการปวดหัวจนผิดปกติ เช่น ปวดมากจนตื่นกลางดึก, ปวดหัวแบบรุนแรงเฉียบพลัน, ปวกหัวมากขึ้นเมื่อไอหรือจาม, มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง หรือปวดหนักแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของหลอดเลือด หรือความผิดปกติอื่นๆ ในสมองได้ 

จะปวดหัวแบบไหนก็ไม่ดีกับใจทั้งนั้น อย่าลืมเช็กตัวเองดีๆ นะ
ด้วยความห่วงใยจาก
QminC