Skip to content

ว่ากันว่าการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ เป็นเกมที่คนขายของทุกคนต้องลงสนาม 

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น QminC ขอใช้โอกาสนี้ชวน ทิป-มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้ง Digital Tips Academy นักเล่าเรื่องและนักการตลาดมากประสบการณ์คนนี้ มาแบ่งปันแนวคิดการทำงาน ที่ใช้ได้จริงทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

แม้เธอคนนี้จะถูกถอดรหัสความสำเร็จเรื่องการทำธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว บทสนาทนานี้ รับรองว่าพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะเราถอดรหัสวิธีการดูแลตัวเอง ให้สู้กับงานได้อย่างแข็งแกร่งของเธอมาฝากทุกคนด้วย

สำหรับคนทำธุรกิจทุกวันนี้ ลำพังการตามเทรนด์ต่างๆ ให้ทันแบบนาทีต่อนาทีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เลย ยิ่งบทบาทเทรนเนอร์ที่ต้องส่งต่อวิธีทำธุรกิจออนไลน์ด้วยแล้ว แน่นอนว่าหน้าที่หลักของทิป คือการเดินนำหน้าคนอื่นๆ อยู่เสมอ

“คนทำงานสายดิจิทัลจำเป็นต้องเดินให้เร็วแบบนั้น เพราะเครื่องมือที่ใช้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สิ่งที่เคยเวิร์กเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ตอนนี้อาจจะไม่เวิร์กแล้วก็ได้ นอกจากความชอบแล้ว เราต้องมี mind set ที่พร้อมจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ต้องเงี่ยหูฟัง เปิดตาดูสิ่งรอบตัวตลอดเวลา”

“เราไม่ได้มองเป้าหมายแบบ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองเป็นก้าวต่อก้าว” ทิปเล่าเรื่องเป้าหมายในการทำงานของตัวเองด้วยน้ำเสียงสดใส

“เรามองว่า ณ วันนี้ หรือจุดที่เราอยู่ตรงนี้ เราอยากจะทำอะไรให้ดีขึ้นบ้าง แพสชั่นของการทำ Digital Tips Academy คือการให้ความรู้ ไม่ว่าจะผ่านทางหนังสือ พอดแคสต์ คอร์สเรียน หรือคอนเฟอร์เรนซ์ สิ่งที่เราอยากจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ คงเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องปรับให้เข้ากับผู้บริโภค”

เราถามทิปว่า สิ่งตอบแทนที่เธอได้รับจากการให้คนอื่นหรือการเป็นครูคืออะไร คำตอบของเธอคือความรู้สึกชื่นใจ ยามมีคนเดินมาบอกว่า ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะทิปส์ในการทำธุรกิจที่รับทอดมาจากเธอ

“เรารู้สึกว่าเราเก่งไม่พอตลอด” ทิปแชร์มุมมองที่มีต่อตัวเองและโลกให้เราฟัง

“เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราเก่งแล้ว มันจะเริ่มอันตราย เราจะเริ่มฟังน้อยลง พูดมากขึ้น เราจะผลักตัวเองไปข้างหน้าน้อยลง ยอมรับความแตกต่างยากขึ้น และอย่าลืมว่าต่อให้เราเก่งแค่ไหน มันจะมีคนที่เก่งกว่าเราในมุมใดมุมหนึ่งเสมอ 

“เราเชื่อว่าเราเป็นแค่จุดเล็กๆ ของจักรวาล ความรู้มันเป็นของโลก ไม่ใช่ของเราคนเดียว เพราะงั้นอะไรก็ตามที่เราเรียนรู้ได้ เราจะเปิดใจเรียนรู้ ชั่วชีวิตนี้ไม่รู้เลยว่าเราจะเรียนรู้หมดหรือเปล่า อย่างทุกวันนี้เรามีเทรนเนอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเยอะ เรามองเป็นเรื่องที่ดีนะ เหมือนกับหนังสือที่เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอ่านมันทีละหลายๆ เล่มแต่ละเล่มก็ให้อะไรที่น่าสนใจต่างกัน

“ดังนั้น เราจะไม่มองเพื่อนร่วมธุรกิจว่าเป็นคู่แข่ง เรามองว่าเขาเป็นคนที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ และทำอุตสาหกรรมให้มันแข็งแรงขึ้น เพราะถ้าอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น แปลว่าเราทุกคนก็ต้องเติบโตขึ้นด้วย”

บนตารางงานที่แน่นเอี้ยดและลากยาวจากเช้าจรดเย็นทุกวัน ภายใต้ความคล่องแคล่วที่เราเห็น ทิปสารภาพว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ระหว่างวันต้องเจอความเครียดและความกดดันจากงานบ้าง

“ส่วนมากจะเป็นความเครียดระดับที่เรารับได้ บางทีหลายงานเข้ามาพร้อมๆ กันก็กดดันเราเรื่องเวลา แต่ในความเป็นจริง เราทำอะไรไม่ค่อยได้นอกจากค่อยๆ ทำไปทีละอย่าง เราใช้หลัก ‘เร็ว ช้า หนัก เบา’ ที่คุณเทียม โชควัฒนา เคยพูดไว้ เป็นวิธีการซอยว่าอะไรที่เราควรทำก่อน อะไรที่ควรทำทีหลัง เวลามีอะไรเข้ามา เราจะทดเสมอว่าอันนี้สำคัญมากหรือน้อย อันนี้ควรเร็วหรือช้า พอเรียงลำดับได้แล้วก็ต้องพยายามเคลียร์ทีละอันให้เสร็จ”

ความอดทนและความใจเย็นก็คงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“ทีนี้ พอเราใช้ร่างกายเยอะ เราก็ต้องดูแลเขาเยอะ เรารู้สึกว่าวินัยการกิน การนอน และการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้ามัวทำแต่งานจนละเลยเรื่องพวกนี้ เราแย่แน่นอน เราจะทำงานให้ดีไม่ได้ ถ้าร่างกายเราไม่ไปด้วย เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเอง เรื่องนี้เราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเหมือนกัน

“การพักระหว่างวันก็สำคัญ บางทีเราจดจ่อกับงานทั้งวัน เราต้องไม่ลืมดึงตัวเองออกมาจากตรงนั้นบ้าง ลุกออกจากงานไปข้างนอก พอกลับเข้ามาเราจะรู้สึกเฟรชขึ้น มีมุมมองใหม่ๆ และไม่รู้สึกล้าจนเกินไป

“การดูแลสุขภาพให้ดีเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตเลย สำคัญกว่างาน เงิน และทุกอย่าง วันไหนที่เราไม่มีเงิน แต่เรามีสุขภาพที่ดี เราหาเงินใหม่ได้ แถมยังมีเวลาอยู่กับครอบครัวและคนที่รักเราได้ด้วย แต่ถ้าเรามีทุกอย่าง ไม่มีอย่างเดียวคือสุขภาพที่ดี สำหรับเรามันไม่ได้มีความหมายอะไรเลยนะ” ทิปทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม