นั่งเช็กอีเมลตั้งแต่ตอนเช้า เพ่งหน้าจอทำงานตลอดทั้งวัน ตกเย็นก็ไถโซเชียล เล่นเกมผ่อนคลาย แต่ถึงกิจกรรมที่ทำจะเรียกว่าเป็นการพักผ่อน อย่าลืมว่าสายตาของเราทำงานไม่หยุด รู้ตัวอีกที อาการตาแห้ง ตาล้า และแสบตาก็ตามมารังควาน
สำหรับใครที่รู้สึกว่าดวงตาเริ่มส่งสัญญาณงอแงแล้ว วันนี้ QminC มีวิธีถนอมสายตาง่ายๆ ที่จะช่วยทำให้สายตาของเรารู้สึกสบายและผ่อนคลายมากขึ้นมาฝาก
สีเขียวช่วยได้
การถนอมสายตาที่ดีที่สุดคือการพักสายตา หากไม่สามารถเลี่ยงการเพ่งสายตานานๆ ทุก 1 ชั่วโมงควรหาเวลาสั้นๆ ให้สายตาได้พัก โดยทอดสายตามองออกไปที่ต้นไม้สีเขียว หรือมองวิวสวนที่อยู่ไกลๆ ครั้งละ 3-5 นาที เพราะสีเขียวเป็นสีโทนเย็น มองแล้วไม่แสบตา นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าของดวงตาแล้ว ยังช่วยให้จิตใจผ่อนคลายอีกด้วย
กะพริบตาให้บ่อย
เวลาจ้องจอนานๆ อัตราการกะพริบตาจะลดลงจาก 20-22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6-8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ไม่แปลกที่ระหว่างวันเราจะรู้สึกว่าตาแห้ง เพราะการกะพริบตาน้อยเกินไปนั้น ทำให้น้ำตาหล่อเลี้ยงผิวตาไม่เพียงพอ อย่าลืมกะพริบตาให้ถี่ขึ้น หรือจะใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นก็ได้นะ
ปรับขนาดตัวหนังสือบนหน้าจอ
ขนาดของตัวหนังสือบนจอที่เล็กเกินไป อาจทำให้เราต้องเพ่งสายตาจนเกิดอาการปวดตาได้ หรือหากตัวหนังสือใหญ่ไปอาจกวาดสายตาอ่านข้อความได้ไม่ถนัด ดังนั้น ควรปรับขนาดตัวหนังสือให้พอดีกับหน้าจอ จะช่วยให้อ่านข้อความเหล่านั้นง่ายขึ้น และไม่ใจร้ายกับดวงตามากเกินไป
สวมแว่นกรองแสง
แว่นกรองแสงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มแสงที่ทำร้ายกระจกตาหรือจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น ถึงแม้ว่าดวงตาเราสามารถกรองแสงสีฟ้าได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อใช้สายตาจ้องจอนานๆ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่อดวงตาในระยะยาวได้
บริหารสายตากันหน่อย
วิธีบริหารสายตาทำได้ง่ายๆ ด้วยการมองระยะไกล 10-20 วินาที จากนั้นก็กลับมามองสิ่งของระยะใกล้ อีก 10-20 วินาที ทำสลับไปมา 5 รอบ วิธีนี้ช่วยคลายความเมื่อยล้า และช่วยให้สายตาโฟกัสได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้ทำเป็นกิจวัตร ช่วงแรกๆ อาจต้องใช้ความพยายามในการเตือนตัวเองสักหน่อย ลองให้ฟังก์ชั่นแจ้งเตือนในโทรศัพท์เป็นตัวช่วยได้นะ
นอกจากวิธีพักสายตาที่เล่ามาแล้ว สิ่งที่เราควรทำทุกๆ ปี คือการตรวจสุขภาพดวงตา เพราะโรคตาบางอย่างไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ในช่วงแรก การตรวจตากับผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เราค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูงขึ้น