Skip to content

เราอาจคุ้นเคยกับโรคออฟฟิศซินโดรม ที่เกิดจากการการนั่งทำงานแบบผิดท่าจนส่งผลต่อสุขภาพ แต่รู้มั้ยว่า ไม่ใช่แค่กับมนุษย์ออฟฟิศเท่านั้น คนทุกอาชีพ กระทั่งกับคนที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ชอบนั่งนานๆ อาจเสี่ยงเป็น ‘โรคนั่งนาน’ หรือ ‘Sitting Disease’ ได้ 

Sitting Disease เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้กับคนที่นั่งอยู่ที่เดิมเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การนั่งนานๆ ติดต่อกันเป็นประจำ ไม่ได้ส่งผลแค่อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือปวดหลังเท่านั้น แต่อาจทำให้การทำงานของอวัยวะภายในของเราผิดปกติหรือเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

นั่งนานไป..สมองเลยช้า

หากนั่งนานเกินไปจะส่งผลให้สมองทำงานช้า เพราะเลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงสมองน้อยลง การขยับร่างกายบ่อยๆ ระหว่างวัน ทำให้เลือดและออกซิเจนจะไหลเวียนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเคมีที่ควบคุมการทำงานของสมองและสภาพอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย     

นั่งนานไป..หัวใจห่อเหี่ยว

เมื่อนั่งนานเกินไปการหมุนเวียนเลือดจะไหลช้าขึ้น การเผาผลาญไขมันในร่างกายน้อยลง ทำให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือดหัวใจ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น

นั่งนานไป..อาหารไม่ย่อย

หลังกินอาหารแล้วมานั่งต่อนานๆ ทำให้อวัยวะภายในช่องท้องและระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ทำให้เกิดเป็นอาการท้องอืด ท้องผูกได้ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของลำไส้ได้อีกด้วย

นั่งนานไป..เสี่ยงเบาหวาน

นั่งนานเกินไปจนร่างกายไม่ได้เผาผลาญ แถมมีแก้วน้ำหวานๆ เย็นๆ ติดโต๊ะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอาจทำให้การผลิตอินซูลินในตับอ่อนทำงานผิดปกติ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

เดินและขยับร่างกายช่วยได้

พยายามหากิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกขึ้น ลองเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30 นาที  ลุกขึ้นมาขยับแข้งขา ยืดเส้นสาย 5-10 นาที ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินไปคุยงานกับเพื่อนร่วมงานแทนการส่งเป็นข้อความ หรือเวลาคุยโทรศัพท์ให้ลุกขึ้นยืนหรือเดินคุย หมั่นเตือนตัวเองหรือสะกิดเพื่อนข้างๆ หากรู้สึกว่านั่งนานไป สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้

รักใคร อย่าปล่อยให้เขานั่งนาน
ด้วยความห่วงใยจาก QminC